วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะทั่วไป (Generalization)



                สัตว์เลื้อยคลานโดยทั่วไป จะมีรยางค์เป็นคู่และมักจะมีนิ้วเท้าทั้งหมด 5 นิ้วเสมอ เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างรวดเร็ว โครงร่างโดยทั่วไปประกอบด้วยกระดูกที่มีการเจริญเติบโตเป็นอย่างดี ในการจำแนกสัตว์เลื้อยคลาน จะใช้วิธีการอาศัยลักษณะของกะโหลก ซึ่งมีความแตกต่างกันในสัตว์เลื้อยคลานแต่ละกลุ่มเป็นตัวจำแนกเช่น งูมีข้อกระดูกสันหลังจำนวนมาก ไม่มีกระดูกอกและไม่มีกระดูกรองรับแขนขา
                มีการปรับโครงสร้างและสภาพร่างกายเพื่อรองรับการปีนป่าย การวิ่ง รวมทั้งการว่ายน้ำ ซึ่งการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายของสัตว์เลื้อยคลาน จะไม่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่จะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเช่น งู และสัตว์จำพวกกิ้งก่าบางชนิดที่ไม่มีรยางค์ มีผิวหนังหรือระบบเครื่องห่อหุ้ม (Integumentary system) ซึ่งจะแตกต่างกันตามรูปร่างและลักษณะของสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีความแตกต่างกันไปในกลุ่มต่าง ๆ ผิวหนังและตลอดทั่วทั้งลำตัวมีเกล็ดแข็งขึ้นปกคลุม ซึ่งเป็นเกล็ดที่เกิดจากอิพิเดอร์มิส (Horny epidermal scale) และอาจจะมีแผ่นกระดูกจากชั้นของผิวหนังเดอร์มิส (Dermal plate) ร่วมอยู่ด้วย

                มีต่อมที่บริเวณผิวหนังน้อยมากหรือไม่มีเลยในบางกลุ่มและบางชนิด สัตว์เลื้อยคลานมีผิวหนังที่ประกอบด้วยอิพิเดอร์มิสที่บางและหนา มีเดอร์มิสที่มีเซลล์เม็ดสี (Chromatophore) ช่วยทำให้ผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลานมีสีสันต่าง ๆ เช่น สีเกล็ดของงูชนิดต่าง ๆ สีเกล็ดของจระเข้ หรือสีเกล็ดของกิ้งก่า จิ้งเหลน เป็นต้น เกล็ดของสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่เกิดจากอิพิเดอร์มิส ซึ่งในบางชนิดจะมีเกล็ดถาวรตลอดชีวิต ตั้งแต่ออกจากไข่จนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเช่น จระเข้ เหี้ย มังกรโคโมโด แอลลิเกเตอร์ ฯลฯ
                แต่สำหรับสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดเช่นจิ้งจก งู หรือกิ้งก่า จะทำการสร้างเกล็ดขึ้นมาใหม่ภายใต้ชั้นผิวหนังที่มีเกล็ดเดิมปกคลุมอยู่ การสร้างเกล็ดใหม่จะช่วยทำให้เกล็ดเดิมที่บริเวณชั้นผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลาน เกิดการลอกหลุดออกทั้งชั้นเช่นการลอกคราบของงู โดยงูจะทิ้งเกล็ดเดิมเอาไว้ทั้งหมดด้วยวิธีการปลิ้นออกจากร่างกายตั้งแต่หัวจรดหาง โดยที่คราบจะยังคงรูปเดิมเอาไว้และไม่ฉีกขาด แต่สำหรับลิซาร์ดหรือสัตว์จำพวกกิ้งก่า จะใช้วิธีการทำให้เกล็ดที่ปกคลุมผิวหนังอยู่เดิมนั้นเกิดการแตกแยกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเกล็ดใหม่จะขึ้นมาแทนที่เกล็ดเดิมที่หลุดออกไป
                เต่าจะมีกระดองที่เป็นผิวหนังชั้นเยื่อบุผิว ซึ่งกระดองเต่านั้นจะเป็นแผ่นเกล็ดปกคลุมร่างกาย (Epidermal horny shield scutes) และผิวหนังชั้นในที่มีแผ่นกระดูก (Dermal hony plate) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูก มีลักษณะติดอยู่กับด้านในของแผ่นเกล็ด ซ้อนกันเป็นชั้นจนกลายเป็นกระดองของเต่าที่มีความแข็งแรงคงทน สำหรับช่วยป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่เต่า กระดองเต่าบริเวณด้านหลังเรียกว่าคาราเพส (Carapace) มีลักษณะเหมือนกับรูปโดม ขนาดเล็กหรือใหญ่ของกระดองเต่าจะขึ้นอยู่กับลักษณะภายนอกและขนาดของเต่าเป็นสำคัญ

                กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงของเต่า จะขยายตัวออกและเชื่อมติดกันเป็นเนื้อเดียว ติดกับบริเวณผิวด้านในของเกล็ด สำหรับกระดองเต่าบริเวณด้านท้องเรียกว่าพลาสทรอน (Plastron) จะมีกระดูกรองรับบริเวณแขน ขา และส่วนกระดูกบริเวณอกที่แบนลงไปจะเกาะติดกับบริเวณด้านในของเกล็ดบริเวณด้านท้องของกระดองเต่า แผ่นเกล็ดและแผ่นกระดูกจะมีการเรียงตัวอย่างสวยงามและเหลื่อมซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งระหว่างกระดองเต่าบริเวณด้านหลังและกระดองเต่าบริเวณด้านท้อง จะมีเยื่อหรือกระดูกที่เชื่อมต่อทางด้านข้าง แต่สำหรับเต่าบางชนิดนั้นจะไม่มีแผ่นเกล็ด ผิวหนังบริเวณลำตัวจะมีความอ่อนนุ่มและเหนียวคล้ายคลึงกับผิวหนังแทน

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิวัฒนาการ (evolution)

              สัตว์เลื้อยคลาน มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในกลุ่ม Labyrinthodont ที่นักชีววิทยาต่างยอมรับในด้านของการวิวัฒนาการ เป็นสัตว์ที่มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่วทั้งลำตัวเช่นเดียวกับปลาที่มีชีวิตอยู่ในยุคคาร์โบนิเฟอรัส (Carboniferous period) ในมหายุคพาลีโอโซอิค (Palaeozoic era) หรือเมื่อประมาณ 280 ล้านปีมาแล้ว สัตว์เลื้อยคลานที่เป็นต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดคือ Captorhinomorphs ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์จำพวกกิ้งก่า สัตว์ต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลาน จัดเป็นสัตว์ขนาดที่มีขนาดลำตัวเล็ก อาหารส่วนใหญ่จึงเป็นแมลง
                จากสัตว์ต้นตระกูลขนาดเล็ก ได้มีการวิวัฒนาการทางด้านกายภาพอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในการวิวัฒนาการ มีด้วยกันทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ไดโนเสาร์ (Dinosaurs) สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล (Marinereptiles - euryapsida) สัตว์เลื้อยคลานที่สามารถบินได้ (Flying reptiles - pterisaurs) และสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammal reptiles - therapsida)
                สัตว์เลื้อยคลานมีการปรับสภาพร่างกายตั้งแต่ในยุคไตรแอสสิค (Triassic period) และมีวิวัฒนาการในการด้านปรับสภาพร่างกายจนถึงขีดสุดในยุคต่อมาคือยุคจูแรคสิค ซึ่งเป็นยุคที่มีสัตว์เลื้อยคลานมากที่สุดในขณะนั้นคือไดโนเสาร์และเทอโรซอส์ จนได้รับการขนานนามสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ว่า "สัตว์เลื้อยคลานเจ้าโลก" (Ruling eptile) เนื่องจากในยุคนั้น เป็นยุคที่มีสัตว์เลื้อยคลานครอบครองโลก แต่เมื่อถึงปลายยุคครีเทเซียส หรือเมื่อประมาณ 65 - 80 ล้านปีมาแล้ว สัตว์เลื้อยคลานทั้ง 2 กลุ่มได้เกิดการสูญพันธุ์ ล้มตายลงเป็นจำนวนมากอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุของการสูญพันธุ์ และในตอนปลายของยุคครีเทเซียส ได้เกิดการเปลี่ยนปลงต่าง ๆ จำนวนมากเช่น เกิดพืชและไม้ดอกในยุคปัจจุบัน
                ภายหลังจากสัตว์เลื้อยคลานเริ่มสูญพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเริ่มมีการแพร่กระจายเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนครอบครองโลกแทนสัตว์เลื้อยคลาน สภาพภูมิอากาศจากที่ร้อนจัดจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เริ่มเย็นลงตามลำดับและมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ปรากฏในยุคปัจจุบันเริ่มถือกำเนิดขึ้น แต่ไดโนเสาร์และเทอโรซอส์ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน หรืออาจสูญพันธุ์จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปร่วมกับปัจจัยในด้านนิเวศวิทยา

                แต่ยังมีสัตว์เลื้อยคลาน 4 กลุ่มและบางชนิด ที่สามารถเอาตัวรอดจากการสูญพันธุ์ได้ จนมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันเช่นเต่าที่จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคโบราณ ที่ยังมีชีวิตรอดมาได้เนื่องจากมีกระดองสำหรับป้องกันตัวเอง งูและสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ด อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นป่าโปร่ง และตามซอกหิน ช่วยทำให้รอดพ้นจากศัตรู จระเข้และแอลลิเกเตอร์มีขนาดร่างกายที่ใหญ่และดูน่ากลัว รวมทั้งพละกำลังมหาศาลทำให้มีศัตรูน้อย เป็นต้น


การสูญพันธุ์และการปรับตัว

                จากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 100 ล้านปีมาแล้ว ทำให้สัตว์เลื้อยคลานในยุคจูแรคสิคเกิดการสูญพันธุ์อย่างกะทันหัน จำนวนที่เคยมีมากถึง 12 กลุ่ม ได้ลดจำนวนลงเหลืออยู่เพียง 4 กลุ่มเท่านั้น ซึ่งกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีที่สุดคืองู และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดได้แก่ จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน และรองลงมาเป็นจระเข้และแอลลิเกเตอร์ สำหรับสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มที่ยังคงลักษณะทางกายภาพแบบโบราณ ที่ไม่มีการปรับตัวให้แตกต่างไปจากบรรพบุรุษคือเต่า และสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มสุดท้ายคือทัวทารา ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวและสามารถพบเห็นได้ที่นิวซีแลนด์เพียงประเทศเดียวเท่านั้น[3]
                สัตว์เลื้อยคลาน มีการปรับสภาพร่างกายที่แตกต่างไปจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายอย่าง ซึ่งทำให้สัตว์เลื้อยคลานนั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งในทะเลทรายได้ แต่สำหรับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไม่สามารถดำรงชีวิตในทะเลทรายได้ เนื่องจากเวลาผสมพันธุ์ จะต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นตัวกลางในการผสมพันธุ์ ผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลานมีความแห้ง หยาบกระด้างกว่าผิวหนังที่ลื่น และเป็นเมือกของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งจะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย และช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผิวหนังรวมทั้งไม่มีต่อมเหงื่อและต่อมน้ำมันอยู่ใต้ชั้นของผิวหนัง ซึ่งช่วยทำให้ป้องกันการสูญเสียน้ำและการระเหยของน้ำได้เป็นอย่างดี

                สิ่งสำคัญที่สุดคือ สัตว์เลื้อยคลานนั้นจะวางไข่บนพื้นดิน และมีการวิวัฒนาการให้มีการปฏิสนธิของตัวอ่อนภายในเปลือกไข่ ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการดำรงชีวิตให้รอดพ้นจากแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีการวิวัฒนาการของเปลือกไข่ เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนภายในไข่มีชีวิตรอดออกมาเป็นตัว เปลือกไข่ของสัตว์เลื้อยคลานทำให้สามารถวางไข่บนพื้นดินแห้งได้ เอมบริโอจะเจริญเติบโตและลอยตัวอยู่ในของเหลวภายใน ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มไข่ (Amnion) เอมบริโอจึงมีของเหลวล้อมรอบเช่นเดียวกับการวางไข่ในแหล่งน้ำ นอกจากนี้เอมบริโอยังมีถุงอาหารที่มีเยื่ออัลแลนทอยส์ (Allantois) ซึ่งเป็นเยื่อสำหรับการแลกเปลี่ยนแก๊สผ่านเปลือกไข่ ที่เยื่ออัลแลนทอยส์ จะมีถุงสำหรับสะสมของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญเติบโต จนเป็นตัวเต็มวัยก่อนออกจากเปลือกไข่ ซึ่งการที่สัตว์เลื้อยคลานสามารถวางไข่บนบกได้นั้น จึงเป็นผลของการวิวัฒนาการร่างกายที่ดีกว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก


สัตว์เลื้อยคลาน

สัตว์เลื้อยคลาน (อังกฤษ: Reptile) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง โดยคำว่า Reptilia มาจากคำว่า Repera ที่มีความหมายว่า "คลาน" เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่จัดเป็นสัตว์ในกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่มีการดำรงชีวิตบนบกอย่างแท้จริง สัตว์เลื้อยคลานในยุคดึกดำบรรพ์ที่รอดชีวิตจากการสูญพันธุ์และยังดำรงชีวิตในปัจจุบัน มีจำนวนมากถึง 7,000 ชนิด กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งชนิดอาศัยในแหล่งน้ำและบนบก จัดเป็นกลุ่มของสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์หินอุกกาบาตพุ่งชนโลกมามากกว่า 100 ล้านปีมาแล้ว
                ในยุคจูแรคสิค (Jurassic period) ที่อยู่ในมหายุคมีโซโซอิค (Mesozoic era) ซึ่งมีอายุของยุคที่ยาวนานถึง 100 ล้านปี จัดเป็นยุคที่สัตว์เลื้อยคลานมีวิวัฒนาการจนถึงขีดสุด มีสัตว์เลื้อยคลานมากมายหลากหลายขนาด ตั้งแต่กิ้งก่าตัวเล็ก ๆ จนถึงไทรันโนซอรัส เร็กซ์ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนมากมายครอบครองพื้นที่ทั่วทุกแห่งในโลก ยุคจูแรคสิคจึงถือเป็นยุคของสัตว์เลื้อยคลานอย่างแท้จริง ต่อมาภายหลังเกิดเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลก ทำให้กลุ่มสัตว์บกที่อาศัยในยุคจูแรคสิค เกิดล้มตายและสูญพันธุ์อย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุของการสูญพันธุ์ที่ชัดเจนและแน่นอน